ความสัมพันธ์ของเมืองอุจิกับ ตำนานเก็นจิ ภาค อุจิจูโจ ของ อุจิจูโจ

เมืองอุจิที่อยู่ทางตอนใต้ของเกียวโตนั้น ในสมัยยุคเฮอัน ถือเป็นเมืองที่ขุนนาง และ ผู้ดี ทั้งหลายใช้เป็นสถานที่พักผ่อนเพื่อหลักหนีความวุ่นวาย ดังนั้นที่เมืองอุจิ จึงมี เบทสึโงะ ( betsugo)หรือ เรือนพักตากอากาศส่วนตัวของขุนนางอยู่มากมายเช่นกัน ที่นี่ไม่เพียงมีชื่อเสียงในด้านการล่องเรือและทิวทัศน์ยามฤดูใบไม้ร่วงที่งดงามเท่านั้น อุจิยังมีชื่อเสียงในฐานะแหล่งแสวงบุญเพื่อความสงบสุขด้านจิตใจสำหรับผู้ศรัทธาในพระศาสนาด้วย เหตุเพราะอุจินั้น เป็นสถานที่ฝังศพของตระกูลฟุจิวาระ ตระกูลที่ทรงอิทธพลสูงสุดในช่วงกลางยุคเฮอัน

ในเรือนพักตากอากาศของขุนนางทั้งหลาย จะประกอบด้วยวัดส่วนตัวภายใน ประดิษฐานพระพุทธรูป หรือ เทพเจ้าคุ้มครองกาย เพื่อขุนนางเหล่านั้นจะได้เก็บตนบำเพ็ญเพียรและภาวนา และหนึ่งในเรือนพักตากอากาศที่มีชื่อเสียงที่ยังหลงเหลือถึงปัจจุบันก็คือ วัดเบียวโดอิน ( Byodoin )มรดกโลกแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ผู้สร้างคือ ฟุจิวาระ โยริมิจิ ( Fujiwara Yorimichi ) บุตรชายของ ฟุจิวาระ มิจินะงะ ( Fujiwara Michinaga )ผู้ว่าจ้าง มุราซากิ ชิคิบุ เพื่อเป็นครูและพี่เลี้ยงให้กับบุตรีของเขา โซชิ ซึ่งต่อมาเป็นจักรพรรดินีอะคิโกะ ต่อมา ฟุจิวาระ โยริมิจิ ได้แปลงเรือนพักตากอากาศเป็นวัด ซึ่งแม้เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นหลังจาก ตำนานเกนจิ ได้เขียนไปแล้วก็ตาม

ยิ่งไปกว่านั้น คำว่า อุจิ (uji)ในร้อยกรองของญี่ปุ่น ( waka ) ยังมีความหมาย 2 อย่าง อย่างแรก คือชื่อ เมืองอุจิ อีกอย่าง หมายถึง ความเศร้าอาดูร(melancholy) ได้อีกด้วย

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้ ประกอบกับ เมืองอุจิ เป็นที่นิยมในหมู่ขุนนางทั้งหลายในยุคเฮอัน จึงอาจเป็นเหตุผลว่า ทำไม มุราซากิ ชิคิบุจึงเลือก เมืองอุจิ มาเป็นฉากในการดำเนินเรื่องของ ตำนานเก็นจิ ภาคจบ อุจิจูโจ นี้

อุจิจูโจ หรือ บทอุจิ 10 บทนี้ เริ่มด้วยตอน ฮะชิฮิเมะ - เทพธิดาแห่งสะพานอุจิ( Hashihime-The Princess at the Bridge )และจบที่บท ยุเมะโนะอุกิฮะชิ - สะพานผ่านฝัน ( yume no ukihashi - The Floating Bridge of Dreams )เสมือนแสดงเป็นนัยแสดงการเปลี่ยนผ่านจากเหตุการณ์แรกที่มีฉากหลังในเกียวโต มาสู่ภาคใหม่ที่ดำเนินเรื่องในเมือง อุจิ และ เปลี่ยนตัวเอกจาก ฮิคารุ เก็นจิ มาสู่ ตัวเอกคนใหม่ บุตรชายเพียงในนามของเขา คาโอรุ โดยใช้คำว่า สะพาน เป็นตัวบ่งชี้ เปลี่ยนผ่านจาก ความมีชีวิตชีวา สู่ ความสงบสันติ จาก โลกนี้ สู่ โลกหน้า แสดงถึงการพัฒนาของเนื้อเรื่อง เหมือน วสันต์ผันสู่ฤดูสาตร ดั่ง ทิวาผันสู่ราตรีกาล[2]